ยินดีต้อนรับเว็บบล็อคเพื่อการเรียนรู้ของครูสาธิต

วันศุกร์ที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2560

ความสำคัญของการออกแบบแผนที่

ความสำคัญของการออกแบบแผนที่


     การทำแผนที่เป็นขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่ แม้ในปัจจุบันมีซอฟต์แวร์ช่วยให้การออกแบบและทำแผนที่ง่ายดายและรวดเร็วขึ้นมาก แต่ไม่ควรละเลยความสำคัญของการออกแบบแผนที่แผนที่คือสื่อนำเสนอข้อมูลเชิงพื้นที่ จึงเป็นเอกสารที่มีความสำคัญทางวิชาการ สามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการทำวิจัยแสดงผลการวิจัยและใช้สื่อสารข้อมูลภูมิศาสตร์ ไม่ควรมองว่าแผนที่เป็นเพียงภาพประกอบเท่านั้น การทำแผนที่ควรใช้เวลาพิจารณาเพื่อวางแผนงานระยะหนึ่ง ขั้นตอนนี้อาจจะยังไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ทำแผนที่ทันที เนื่องจากแผนที่แสดงข้อมูลเป็นภาพที่แปลตีความแล้ว จึงควรออกแบบให้ผู้ใช้สามารถทำความเข้าใจแผนที่ได้รวดเร็วโดยเฉพาะแผนที่เฉพาะเรื่องเชิงปริมาณ แต่แผนที่บางชนิด เช่น แผนที่ธรณีวิทยามีข้อมูลบรรจุอยู่มาก ต้องใช้เวลาอ่านแผนที่อย่างพินิจพิเคราะห์เพื่อแปลความหมายของสัญลักษณ์ที่ปรากฏบนแผนที่ ซึ่งจะนำไปสู่ความเข้าใจลักษณะของพื้นที่ตรงตามวัตถุประสงค์แท้จริงของแผนที่ หากแผนที่นั้นสื่อสารข้อมูลคลุมเครือหรือผิดพลาดจะส่งผลให้ผู้ใช้แผนที่ตีความหมายผิดเช่นกัน การออกแบบแผนที่ที่ดีควรออกแบบให้มีความชัดเจน (Clarity) ในขั้นแรก คือ การสร้างความชัดเจนของแนวคิดมีความเข้าใจปรากฏการณ์เชิงพื้นที่อย่างชัดเจน แล้วคัดเลือกข้อมูลที่สำคัญที่เป็นตัวแทนของลักษณะพื้นที่ ซึ่งหมายถึงการวิเคราะห์ข้อมูลเนื้อหาแผนที่ให้ถูกต้องตรงตามวัตถุประสงค์แผนที่ ความชัดเจนในขั้นต่อมาคือการสร้างสัญลักษณ์แผนที่ให้ชัดเจน เมื่อแทนสภาพจริงด้วยสัญลักษณ์แผนที่ จะต้องเลือกใช้สัญลักษณ์ที่เหมาะสม วางตำแหน่งสัญลักษณ์และตัวอักษรไม่ซ้อนทับกัน ทำให้มองเห็นง่าย และอ่านตัวอักษรได้ง่าย ไม่แสดงข้อมูลมากเกินความจำเป็น เพื่อให้สังเกตและดึงข้อมูลสำคัญได้อย่างรวดเร็ว และสามารถจดจำลักษณะของข้อมูลบนแผนที่ได้ง่าย การออกแบบแผนที่ประกอบด้วยหลักการออกแบบ คือ ภาพ-พื้น (Figure-Ground) ความสมดุลเชิงทัศน์ (Visual balance) ความเปรียบต่าง(Contrast) และลำดับเชิงทัศน์ (Visual hierarchy)
     1.  ภาพ-พื้น หมายถึง การเน้นภาพหลักซึ่งออกแบบมาเป็นจุดสนใจหลัก ให้แตกต่างออกจากพื้นหลังซึ่งเป็นฉากประกอบ ภาพหลักต้องดูสำคัญกว่าและโดดเด่นออกจากพื้นหลัง โดยการใช้ความแตกต่างของสีความสว่าง หรือความเข้ม ลวดลาย ความหมายของภาพในแผนที่ คือ ตัวเนื้อหาหลักแผนที่ ส่วนพื้น คือ เนื้อหาประกอบเพื่อให้เกิดความเข้าใจเนื้อหาหลัก โดยไม่รบกวนเนื้อหาหลัก
     2.  ความสมดุลเชิงทัศน์ หมายถึง เมื่อการวางองค์ประกอบแผนที่ทั้งหมด แล้วน้ำหนักของภาพรวมทั้งแผนที่ไม่เอียงไปทางใดทางหนึ่งของพื้นที่แผนที่ แต่กระจายทั่วทั้งพื้นที่แผนที่ โดยรักษาระยะพื้นที่ว่างให้สม่ำเสมอกัน การวางองค์ประกอบแผนที่ให้สมดุลมีรูปแบบของความสมดุลสองประเภทคือ ความสมดุลเป็นทางการ(Formal balance) และความสมดุลไม่เป็นทางการ (Non-formal balance) ความสมดุลเป็นทางการ หมายถึง การวางองค์ประกอบแผนที่ให้อยู่กึ่งกลางแผนที่ และวางให้สมมาตรกัน เช่น วางชื่อแผนที่ และเนื้อหาแผนที่ให้อยู่ตรงกลาง ส่วนข้อมูลองค์ประกอบลำดับต่ำกว่าวางไว้ชิดซ้าย และชิดขวา ให้สมมาตรกัน ความสมดุลเป็นทางการ มักใช้กับการออกแบบแผนที่ชุด เช่น แผนที่ภูมิประเทศ เนื่องจากพื้นที่ของเนื้อหาแผนที่ถูกออกแบบให้มีขนาดเท่ากัน เกือบเป็นรูปสี่เหลี่ยมเหมือนกัน ส่วนความสมดุลไม่เป็นทางการ หมายถึง การวางองค์ประกอบแผนที่ให้อยู่กระจายตามบริเวณที่ว่างที่มีอยู่ แต่เมื่อวางทุกองค์ประกอบแล้ว แผนที่นั้นยังมีความสมดุล ความสมดุลไม่เป็นทางการมักใช้กับแผนที่ที่มีพื้นที่เนื้อหาแผนที่ไม่ใช่รูปทรงเรขาคณิต เช่น พื้นที่จังหวัด พื้นที่ลุ่มน้ำ เป็นต้น และเป็นแผนที่มาตราส่วนขนาดเล็ก
     3.  ความเปรียบต่าง หมายถึง การตัดกันของรูปลักษณ์แผนที่หนึ่งกับรูปลักษณ์อื่น ทำให้เห็นความแตกต่างของแต่ละรูปลักษณ์ ซึ่งทำโดยการออกแบบลักษณะของสัญลักษณ์ หรือตัวแปรเชิงทัศน์ เช่น สี ลวดลายรูปร่าง และเงา ให้สามารถแยกแยะความแตกต่างจากแต่ละรูปลักษณ์ได้ โดยยึดตามการวิเคราะห์ข้อมูลตามจุดประสงค์หลักแผนที่ การออกแบบให้รูปลักษณ์ที่สำคัญโดดเด่น จะทำให้มีลำดับเชิงทัศน์ หรือเป็นจุดความสนใจอยู่ในลำดับแรกๆ


     4. ลำดับเชิงทัศน์ เป็นการวางสัญลักษณ์ และองค์ประกอบแผนที่ให้เป็นไปตามความสำคัญในบริเวณที่มองเห็นเด่นชัดที่สุดเป็นลำดับไป ข้อมูลแผนที่จึงควรวางตามลำดับความสำคัญซึ่งมี 2 องค์ประกอบ คือ ลำดับขององค์ประกอบแผนที่ และลำดับของเนื้อหาแผนที่
      - ลำดับขององค์ประกอบแผนที่ โดยปกติแล้วความสนใจของสายตาที่มองพื้นที่หนึ่ง มีลำดับความสนใจพื้นที่ในส่วนที่มองได้ชัดเจนที่สุด จุดดึงดูดสายตาที่สุด คือ จุดศูนย์กลางของการมองเห็นข้อมูลทันที เรียกว่าจุดศูนย์กลางเชิงทัศน์อยู่บริเวณเกือบกึ่งกลางพื้นที่แผนที่ (ประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ของความสูง และอยู่เหนือจุดศูนย์กลางเรขาคณิต) ลำดับเชิงทัศน์จึงเป็นการวางสัญลักษณ์และองค์ประกอบแผนที่ให้เป็นลำดับตามความสำคัญในบริเวณที่มองเห็นเด่นชัดที่สุดเป็นลำดับไป วิธีการกวาดสายตามีก็ลำดับเช่นกัน สำหรับวัฒนธรรมที่ฝึกการอ่านจากซ้ายไปขวา ผู้ใช้จะกวาดสายตาจากด้านบนชิดซ้าย เฉียงมาที่จุดศูนย์กลางเชิงทัศน์ซึ่งเป็นจุดรวมความสนใจ ที่วางบนพื้นที่ความสนใจโดยรอบ แล้วกวาดตาลงไปมุมขวาล่าง
     เนื่องจากองค์ประกอบของแผนที่มีลำดับความสำคัญมากน้อยต่างกัน สรุปลำดับความสำคัญได้ตามตาราง การวางองค์ประกอบแผนที่พิจารณาให้องค์ประกอบที่มีลำดับความสำคัญสูงมีสัดส่วนพื้นที่มากที่สุด แล้วลดหลั่นขนาดพื้นที่กันไปตามลำดับ และองค์ประกอบของแผนที่ที่มีลำดับความสำคัญสูงต้องอยู่บริเวณที่น่าสนใจที่สุดด้วย


ภาพ (ก) จุดศูนย์กลางเชิงทัศน์ และ (ข) ลำดับการกวาดสายตา
ที่มา : Dent (1999)

ตารางลำดับความสำคัญขององค์ประกอบแผนที่


     – การจัดลำดับของเนื้อหาแผนที่ (Hierarchical organization) ส่วนของเนื้อหาแผนที่ ก็มีระดับความสำคัญแตกต่างกัน โดยเฉพาะแผนที่เฉพาะเรื่องมีเนื้อหาหลัก หรือหัวเรื่องหลักที่นำมาแสดงบนแผนที่ซึ่งอาจเน้นเป็นข้อมูลเชิงคุณภาพ เช่น ชนิดดิน การใช้ที่ดิน หรือข้อมูลภูมิศาสตร์ที่นำมาแสดงเป็นข้อมูลเชิงปริมาณ เช่น จำนวนประชากร และเนื้อหารอง ประกอบเป็นพื้นหลัง ซึ่งคือข้อมูลอื่นๆ ที่ประกอบเป็นฉากหลัง อาจเป็นแผนที่ลายเส้นหรือเป็นข้อมูลจากดาวเทียม และรูปถ่ายทางอากาศก็ได้ แต่ต้องออกแบบให้ภาพประกอบพื้นหลังไม่รบกวนประเด็นที่นำมาแสดง เช่น การลดทอนรายละเอียดที่ไม่จำเป็นออกไป การใช้สีอ่อนกว่าประเด็นหลัก การจัดลำดับความสำคัญของเนื้อหาแผนที่มี 3 ลักษณะ คือ ลักษณะภาพ 3 มิติ ลักษณะลำดับขั้น และลักษณะการจำแนกย่อย


ที่มา : ตำราเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศศาสตร์


3 ความคิดเห็น: